วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555


ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ดมะค่าโมง เบื้องต้น


รวบรวมเมล็ดมะค่าโมง ---> สกัดขั้วพร้อมทำแผลให้ถึงเนื้อใน   โดยต้องระวังไม่ทำให้ต้นอ่อนในเมล็ดเสียหาย---> นำเมล็ดมะค่าที่ทำแผลแล้วแช่น้ำร้อน 70-80 องศาเซลเซียส(ไม่ใช่น้ำเดือด) ---> แช่เมล็ดมะค่าให้ท่วมปล่อยให้น้ำเย็นและไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแช่ต่อไปประมาณ 32-40 ชั่วโมง ---> เมื่อเปลือกด้านนอกร่อนดีแล้วนำไปเพาะในถุงเพาะต่อไป ---> ผ่านไปประมาณ 7-10 วันจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้นมะค่าโมงเริ่มงอก

หลังจากได้เมล็ดมะค่ามาแล้ว บางเมล็ดอาจจะใหม่ยังมีขั้วสีเหลืองๆหรืออาจจะไม่เหลืองเพราะซีดโดนฝนโดนแดดจนกลายเป็นน้ำตาลซีดๆ แสดงว่าผ่านการร่วงจากฝักมานานแล้วถ้าเมล็ดที่เพิ่งแก่ใหม่ๆร่วงไม่นาน ขั้วเมล็ดจะเอี่ยมอ่องสีสันเหลืองอ่อนๆสวย บางเมล็ดอาจจะได้รับการแทะจากน้องปลวกทำให้ขั้วนั้นแหว่ง หรือ ร่อนหลุดไปจากตัวเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม เหลือเพียงเมล็ดกลมๆสีน้ำตาลเข้มอย่างเดียว จะเป็นแบบไหนเรารับหมดครับถ้าไม่ลีบหรือดูผอม เมล็ดเต่งตึง ยิ่งอวบใหญ่เท่าไหร่ จัดว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ดีมีโอกาสงอกเป็นต้นมะค่าได้สูงเราเลือกเอามาไว้ในอ้อมใจเลยครับ
เมื่อได้เมล็ดมะค่ามาแล้ว เราต้องมีเทคนิคในการเร่งกระบวนการงอกโดยวิธีใดๆก็แล้วแต่เพื่อทำให้เกิดรอยแผล(เก่า แต่สำหรับเมล็ดมะค่าเราจะทำแผลสดกัน) อาทิเช่น เจียด้วยเครื่องเจียจิ๋วหรือใหญ่แล้วแต่สะดวก  หรือบางคนบอกไม่มีเครื่องเจียขอใช้ตะไปฝนเอาได้ไหมผมก็คิดว่าได้นะไม่ว่ากันไม่เลือกวิธีการแต่ขอให้งานออกมาเนียนและดูดีตามเป้าประสงค์ของเราถือเป็นใช้ได้ บางท่านอาจจะบอกว่าเล่นไม่ยากใช้วิธีบ้านๆเลยคือใช้มีดพร้าสับกระเทาะตัดขั้วเมล็ดพร้อมทำให้เกิดแผลไปด้วยในคราเดียวกันเลย ซึ่งวิธีนี้ได้ผ่านการทดลองโดยผู้เขียนมาแล้ว แต่แนะนำว่าต้องระมัดระวังเพราะอาจจะไม่ใช่แต่เพียงเมล็ดมะค่าโมงเท่านั้นที่จะเกิดแผล อาจจะรวมถึงนิ้วมือที่ท่านจับเมล็ดด้วยที่จะเป็นแผลครับ สารพันวิธีที่จะทำให้เกิดแผลขึ้น แล้วทำไมต้องทำให้เกิดแผลที่ตัวเมล็ดมะค่าเหตุเพราะว่าเมล็ดมะค่าโมงนั้นด้วยตัวเมล็ดของเค้าด้านนอกจะมีเปลือกหุ้มชั้นนอกสีน้ำตาลเข้มที่เราเห็นหนาและป้องกันความชื้นจากน้ำฝนได้เป็นที่หนึ่งเลยหากเราโยนลงถาดเพาะหรือหมกในถุงเพาะเชื่อเลยว่าผ่านไปหลายเดือนบางทียังไม่สะดุ้งหรือมีทีท่าว่าจะงอกเลยหล่ะครับ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องทำแผลให้เข้าไปถึงเนื้อในเมล็ดมะค่าโมงสีขาวเพื่อให้น้ำซึมผ่านเข้าไปได้เร่งการงอกได้เร็วขึ้นมาก จากหลายเดือนจะเหลือไม่กี่วัน
การฝนเจีย หรือ กระเทาะ ในการทำแผลให้กับเมล็ดมะค่าโมง เราต้องทำอย่างระมัดระวังโดยต้องไม่ให้ส่วนที่เป็นเอ็มบริโอหรือต้นอ่อนที่อยู่ใกล้บริเวณขั้วเมล็ดนั้นได้รับความเสียหายหรือหลุดร่อนออกไประหว่างที่เราเจียตะไป หรือ ใช้มีดพร้าฟัน นะครับ (แต่ถ้าเฉพาะขั้วเมล็ดสีเหลืองหลุดไม่เป็นไร เพราะไม่กระทบกระเทือนเอ็มบริโอ) เพราะไม่เช่นนั้นก็จบกันเมล็ดนั้นจะไม่งอกเพราะขาดส่วนสำคัญที่เป็นรหัสทางพันธุกรรมที่จะแบ่งเซลล์แทงรากออกมาและงอกเป็นต้นอ่อนนั่นเอง แนะนำให้ใช้เครื่องเจียจิ๋วหรือถ้าไม่มีลองๆไปตามร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์หรือซ่อมเครื่องยนต์และฝากให้เค้าช่วยเจียให้แต่อธิบายหรือกำกับไปพร้อมกันว่าเจียเอาพอเป็นแผลเห็นเนื้อในสีขาวและไม่ไปโดนเอ็มบริโอต้นอ่อน แผลไม่ต้องใหญ่มากให้พอไปแช่น้ำแล้วน้ำซึมเข้าได้ดีหล่ะครับ สกัดขั้วสีเหลืองๆออกด้วยจะดีมากเพราะรากเค้าจะแทงออกทางบริเวณนั้น
เมื่อเราผ่านการเจียหรือตะไป หรือ ใช้มีดพร้าสับแบบ(ไม่เสียนิ้วมือไปด้วยนะครับ โฮ๊ะๆๆๆ) ก็มาถึงขึ้นตอนการนำมาเมล็ดมาแช่น้ำ โดยแนะนำหาภาชนะที่จะใช้แช่อาจจะเป็นขวดน้ำดื่ม PET ทั่วไปที่เราซื้อมาดื่มนี่แหละครับ ทำการตัดขั้วออกให้มีลักษณะเป็นแก้วน้ำ หรือใครไม่สะดวกจะใช้แก้ว หม้อ ชาม หรืออะไรก็ได้แต่ให้ใส่น้ำร้อนได้แล้วไม่ละลายเป็นพอ และตรวจดูด้วยว่าไม่มีมดแมลงหรือสัตว์ตัวน้อยอยู่ด้านในเพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่สร้างหนี้สินเวรกรรม ไม่งั้นเดี๋ยวโดนน้ำลวกตายกันหมด  ให้นำกาน้ำร้อนเสียบปลั๊กต้มน้ำเสมือนหนึ่งเราอยากชงโอวันติน หรือ กาแฟ ดื่มอย่างไงอย่างงั้นเลยเมื่อน้ำเดือดแล้วก็ทำการใส่เมล็ดลงในกระป๋องที่เราจัดเตรียม(โดยตรวจเช็คแล้วว่าไม่มีน้องมด น้องแมลงใดๆเพื่อไม่ให้เค้าต้องมาเสียชีวิตลงโดยใช่เหตุ) กดน้ำร้อน ไม่ต้องแปลกใจใช่แล้วครับ น้ำร้อนในกาต้มน้ำที่เราเพิ่งถอดปลั๊กไปนั่นแหละครับกดลงไปในแก้วที่มีเมล็ดมะค่าโมงโดยเผื่อให้ท่วมเมล็ดพอประมาณ
หลักจากแช่เมล็ดด้วยน้ำร้อนที่เรากดจากกาต้มน้ำแล้ว โดยน้ำควรท่วมเมล็ดมากหน่อยเพราะเมล็ดมะค่าโมงจะดูดน้ำและพองตัวในเวลาต่อมา พอใส่น้ำร้อนแล้วไม่ต้องทำอะไรเลยครับหากระดาษหรือผ้าหรืออุปกรณ์มาปิดฝาไว้กันมดเมล็ดตกใส่แก้วมะค่าโมง หลังจากนี้เราแค่รอเวลาเท่านั้นเองให้เมล็ดมะค่าเค้าดูดดื่มน้ำไปเรื่อยๆจนหนำใจ ส่วนน้ำก็จะคลายร้อนเป็นน้ำเย็นธรรมดาก็ไม่เป็นไรครับแช่ต่อไป แต่เวลาผ่านไปอาจจะมีกลิ่นตุๆของเมล็ดมะค่าเป็นธรรมดาแนะนำให้วางไว้นอกบ้านหรือที่ที่กลิ่นจะไม่รบกวนเราได้
หลังจากผ่านการแช่ข้ามวันข้ามคืนเมล็ดมะค่าโมงจะเริ่มอ้วนจะเริ่มพองโดยเปลือกนอกที่เราเห็นแข็งๆสีน้ำตาลเข้มนั้นจะรับน้ำไปก่อนเป็นอันดับแรกจะเริ่มร่อนยุ่ยเรียกว่าเริ่มระทวยโดยลำดับครับจากการฟิชเจอริ่งกับน้องน้ำเข้าไป รวมทั้งน้ำจะซึมผ่านแผลเข้าสู่เนื้อในไปทำให้เมล็ดด้านในเนื้อสีขาวอิ่มน้ำตามไปด้วยเรียกว่าแทรกซึมไปจนถึงทุกอณูกระตุ้นให้ต้นอ่อนที่หลับอยู่เริ่มตื่นเริ่มกระบวนการงอกขึ้นโดยลำดับ
แต่เดี๋ยวก่อนการแช่น้ำให้เมล็ดมะค่าโมงนั้นช่วยกระตุ้นการงอกในอัตราที่เร็วขึ้นก็จริงครับแต่ทุกอย่างก็มีสมดุลมากไปน้อยไปก็ส่งผลเสีย เช่นกัน เราควรนำเมล็ดมะค่าแช่น้ำพอประมาณเมื่อสมควรแก่เวลาแล้วผ่านไป 32-40 ชั่วโมง ควรนำขึ้นหรือเทน้ำทิ้งออกให้หมด ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาอาจจะไม่ถึงกับตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเอาเป็นว่าให้หมั่นมาตรวจดูว่าเปลือกนอกร่อนดีไหมร่อนครบทั้งเมล็ดหรือยัง แต่เปลือกอาจจะร่อนไม่ครบทั้งเมล็ดก็ไม่เป็นไร หรืออาจจะลองๆหยิบจากน้ำขึ้นมาบีบๆดูว่ามีความอ่อนนุ่มหยุ่นๆมือมากหรือไม่มากน้อยเพียงใดเพราะรับน้ำไปเยอะ ถ้านิ่มมากเกินแสดงว่าควรพอแล้วเพราะเวลาเรานำไปเพาะอาจจะไม่ทันงอกจะเน่าคาถุงเพาะไปเสียก่อนหน่ะซิครับ
เมื่อเมล็ดมะค่าโมงได้ที่แล้วก็นำไปเพาะในถุงเพาะชำหรือกระบะอะไรก็สุดแล้วแต่เราจะสร้างสรรค์หรือจัดหาได้ขึ้นมาครับ วัสดุเพาะก็ใช้ดินดี ผสมแกลบดิบ ปุ๋ยคอก ประมาณอัตราส่วนเท่าไหร่ก็ได้ครับเน้นให้วัสดุเพาะร่วนซุยระบายน้ำดี หรือ อาจจะเป็นแกลบดำเพียวๆคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใช้ได้ยังไงลองๆดู แต่อยากให้มีดินและแกลบข้าวแกลบดิบ และปุ๋ย ร่วมด้วยช่วยกันจะดีกว่า
เท่านี้เราก็จะได้เห็นเมล็ดมะค่าโมงงอกสมใจแล้วครับ หมั่นรดน้ำให้ชื้นแต่อย่าบ่อยดูตามสภาพดินเพาะถ้าชื้นดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องรดเพิ่มครับ เพราะว่าเมล็ดนั้นเราแช่น้ำมาพอสมควรถ้ารดน้ำมากไปอาจจะไม่ทันงอกและเค้าจะโดนราและความชื้นเล่นงานจนเน่าคาเมล็ดไปเสียก่อน ผ่านไปสัก 3-5 วันถ้าลองๆสังเกตุดูรากจะแทงสู่ดินในถุงเพาะ ประมาณอาทิตย์หนึ่งเราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแทงรากยาวขึ้นและชูใบอ่อนให้เราขำๆตลกกับการโงหัวขึ้นชูช่อของเมล็ดมะค่าเค้าหล่ะครับ
สุดท้ายควรเผื่อใจและเผื่อความผิดพลาดว่าเราเพาะเมล็ดมะค่าโมงอาจจะไม่งอกดีทั้งหมดทุกเมล็ด อาจจะเพราะเมล็ดแต่เดิมที่เราได้มาไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือเมล็ดเค้าดูดน้ำมากไปเราแช่นานไป เผื่อเปอร์เซนต์ความผิดพลาดไว้ด้วยนะครับ ขอให้โชคดี
คิดว่าบทความนี้น่าจะพอเป็นไกด์ไลน์แนวทางในการลงมือปฏิบัติจริงในการเพาะเมล็ดมะค่าโมงได้พอสมควร มีข้อเสนอแนะติชมอย่างไรคอมเมนท์เอาไว้ท้ายบทความกันได้หวังว่าทุกคนจะมีความสุขในการเพาะเมล็ดมะค่าโมง และร่วมมือกันคนละไม้ละมือเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ธรรมชาติสืบไป